วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

เฟสบุคเป็นของฟรี จริงหรือไม่?



เฟสบุค บอกเราว่า "ใช้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ" ตอนที่เราสมัครใช้งาน มันจริงหรือไม่?
วันนี้ผมจะมาไขปริศนาเรื่องนี้ ให้ท่านที่ได้ติดตามอ่านงานเขียนของผมกัน
ใช่ครับ ตอนที่เราไปลงทะเบียน(Register) เพื่อขอใช้งาน เฟสบุคก็บอกเราว่า ใช้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงแต่ว่า เราต้องกรอกข้อมูลที่สำคัญบางอย่างในขั้นตอนที่หนึ่งให้เฟสบุคทราบ ได้แก่ ชื่อ นามสกุล เพศ วัน-เดือน-ปี เกิด เบอร์โทรศัพท์หรืออีเมล์(E-Mail) ในขั้นตอนกรอกข้อมูลขั้นตอนที่หนึ่งนี้ เฟสบุคบังคับว่าต้องกรอก ถ้าไม่กรอกก็ไม่ให้ใช้ อิ อิ อิ
เมื่อเสร็จขั้นตอนที่หนึ่ง ก็เข้าสู่ขั้นตอนที่สอง เฟสบุค พยายามโน้มน้าว(ไม่บังคับ)ให้เรากรอกข้อมูลอื่นๆ ตามมาอีก เช่น ที่อยู่ ระดับการศึกษา ทำงานที่ใด มีความสนใจเรื่องใด เป็นต้น ในขั้นตอนนี้หากเรายังไม่พร้อมจะกรอก ก็สามารถข้ามไปได้(ค่อยมากรอกย้อนหลัง) แต่ถ้ากรอกไปแล้ว(ก็ยังสามารถกลับมาแก้ไขใหม่ได้ในภายหลังเช่นกัน) เฟสบุคก็จะเอาข้อมูลเหล่านี้ของเรามาประมวลผลเพื่อจะหาเพื่อนให้เราหรือดึงโฆษณาต่าง ๆ ขึ้นมาให้ตรงกับสิ่งที่เราสนใจให้มากที่สุด ถามว่าทำไม ใจเย็นๆ ครับ เดียวผมจะค่อยๆ อธิบาย
แต่อยากบอกตรงนี้นิดหนึ่งว่า ยังมีขั้นตอนต่อมาซึ่งเป็นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งก็คือขั้นตอนหาเพื่อน การใช้ชีวิตในเฟสบุคหากว่าไม่มีเพื่อนมันไม่สนุกหรอกครับ มันต้องมีเพื่อน มันต้องคบหาสมาคมกับผู้อื่นถึงจะมีรสชาติ ดังนั้นเราก็เริ่มทยอยค้นหาเพื่อนที่เรารู้จัก แล้วก็ส่งคำขอเป็นเพื่อนกับเขา แล้วก็รอให้เขาตอบรับกลับมา หรือในหลายๆ ครั้ง เฟสบุคจะช่วยหาเพื่อนมาให้เรา โดยการบอกว่า “บุคคลที่คุณอาจรู้จัก” เมื่อใช้งานเฟสบุคไปสักพัก เฟสบุคก็จะเอาเราไปขึ้นเป็นบุคคลที่คุณอาจรู้จักในหน้า newsfeed ของเพื่อนที่ยังหาตัวกันไม่เจอด้วยก็ได้ จะไม่ขออธิบายอะไรให้มากในขั้นตอนนี้ เพียงแต่อยากจะชี้ให้เห็นอะไรเล็กๆ สักนิดหนึ่งว่า เฟสบุคมีความแม่นยำประมาณ 50% - 90% ในการหาบุคคลที่คุณอาจรู้จักมาแสดงให้เราดู ที่เฟสบุคทำอย่างนั้นได้ก็เพราะข้อมูลที่กรอกลงไปในขั้นตอนที่หนึ่งและสองนั่นเองครับ
(ในการสมัครใช้งานจริง ขั้นตอนที่สองกับขั้นตอนที่สามสลับกัน แต่ที่ผมเขียนเรียงลำดับแบบนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลต่างๆ ของเราที่ให้ไปกับเฟสบุคนั้นมันสำคัญอย่างไรและเฟสบุคเอาไปใช้งานที่ไหนเมื่อไหรบ้าง แค่นั้นเองครับ)
ทีนี้ก็มาไขปริศนาเรื่องโฆษณากันต่อ หากสังเกตุดีๆ โฆษณาที่ว่าจะมีลักษณะเป็นเพจกับเป็นโพสต์ ถ้าโฆษณาเป็นเพจ เฟสบุคจะใช้ข้อความกำกับว่า “เพจแนะนำ” ถ้าเป็นโพสต์ เฟสบุคจะบอกว่า “ได้รับการสนับสนุน” หรือ “สปอนเซอร์” แล้วโฆษณาจะมีเกิดขึ้นทุกครั้งที่เราเปิดเข้ามาใช้งานเฟสบุคไม่ซ้ำหน้ากัน คนที่อยู่กรุงเทพกับคนที่อยู่ภูเก็ตหรือเชียงใหม่ ในเวลาใดเวลาหนึ่งจะได้เห็นโฆษณาไม่เหมือนกัน ผู้หญิงกับผู้ชายในเวลาใดเวลาหนึ่งอาจจะได้เห็นโฆษณาไม่เหมือกันก็ได้ แล้วแต่ว่าเฟสบุคจะจัดหามาให้ในหน้า newsfeed (หน้าหลัก) ของเราอย่างไร เราแค่รอชมอย่างเดียว
ถ้าดันเผอิญว่า โฆษณาดังกล่าวมันมาโดนตาโดนใจเราเข้า อย่างน้อยๆ เราต้องคลิกอ่านรายละเอียดหรือไม่ก็กดไลค์ให้โฆษณาเพจหรือโพสต์เหล่านั้นเป็นอย่างน้อย จริงไหมครับ แต่ถ้าไม่ถูกตาถูกใจเราก็ข้ามๆ โฆษณาเหล่านั้นไป เพื่อไปยังโพสต์ของเพื่อนๆ ของเราที่เขาโพสต์ๆ หรือแชร์ๆ กันอยู่
แต่ถ้าลองตั้งใจสังเกตุดีๆ เฟสบุคก็จะมีความแม่นยำค่อนข้างสูงเช่นกัน ที่จะดึงโฆษณาใดๆ ให้มาขึ้นในหน้า newsfeed ของเรา ที่เราเห็นปุ๊บก็ถูกใจปั๊บทันที ซึ่งก็มีบ่อยครั้งเหมือนกัน เคยสังเกตุแบบนั้นหรือเปล่าครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเฟสบุคก็ใช้หลักการเดียวกับการเอา บุคคลที่คุณอาจรู้จัก มาแสดงให้เราดู ในขั้นตอนค้นหาเพื่อนตามที่ได้อธิบายไปแล้วเมื่อตะกี้
ในบางครั้งหากโฆษณาใดๆ เอาสินค้าที่ตรงใจเราที่สุดมาขาย และเรามีเงินพอ เราก็สั่งซื้อสินค้านั้นทันที เคยเป็นแบบนี้ใช่ไหมครับ คือสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์ เชื่อว่าหลายๆ คงจะเคยกันมาบ้างแล้ว ไม่มากก็น้อย จะเห็นว่ามันเกิดการซื้อขายกันโดยตรงระว่างผู้ขายและผู้ซื้อ แม้ว่าจะเป็นโลกออนไลน์ที่ไปจากเฟสบุคก็ตาม แต่ในทางเศรษฐกิจถือว่าเกิดการหมุนเวียนของเงินตราแล้ว และด้วยเหตุผลนี้แหละ ที่ผู้ขายต่างก็พึงพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้จาการให้เฟสบุคช่วยโฆษณาสินค้าให้
เห็นไหมครับว่า มันเกิดการปฏิสัมพันธ์กันโดยตรงระหว่างผู้ซื้อ(เรา)และผู้ขายสินค้าและรวมไปถึงบริการทั้งหลายทั้งปวงในเฟสบุคแห่งนี้ด้วย
ถ้าแรงจูงใจมันดี ลงทุนเท่าไหร่ก็ยอม จริงไหมครับ
นี่คือสิ่งที่บรรดาพ่อค้าแม่ขายทั้งหลายยึดถือในเรื่องการแสวงหากำไร บรรดาผู้ขายสินค้าทางเฟสบุคก็เหมือนกัน จ่ายค่าโฆษณาเท่าไรก็ยอมหากผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่า ก็เลยเกิดการไปแย่งขอทำโฆษณากับเฟสบุคกันมากมาย เฟสบุคก็จะใช้วิธีประมูลช่วงเวลาโฆษณากัน คือให้ผู้ขายสินค้ากำหนดงบประมาณมาว่าวันนี้คุณจะจ่ายค่าโฆษณาให้กับเฟสบุคกี่บาท ขายสินค้าให้กับใครคนจำพวกไหนบ้าง ขายให้กับคนในพื้นใดบนแผนที่โลก(ซึ่งจะขึ้นมาให้เราเลือก) เมื่อเฟซบุคเปิดดูผลการประมูล(แต่เฟสบุคจะเก็บมันไว้เป็นความลับ)ก็จะจัดสรรเวลาสำหรับดึงโฆษณาของพ่อค้าที่ให้ราคาประมูลสูงๆ ขึ้นหน้า newsfeed ของกลุ่มคนที่อยู่ในข่ายที่ผู้ขายกำหนดไว้ตั้งแต่ตอนประมูล(ซึ่งก็คือกลุ่มเป้าหมาย)บ่อยๆ และถี่ๆ ส่วนคนที่ประมูลรองๆ ลงมา ก็จะขึ้นเบาๆ บางๆ ในช่วงของวัน วันนั้น
ทั้งหมดสามารถสรุปได้ว่า ถ้าแค่เราใช้งาน ก็ฟรีจริงๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่อย่าลืมว่า เราต้องเอาข้อมูลของเราที่ให้ไว้กับเฟสบุคไปแลก(ของฟรี)มา เพื่อจะให้เฟสบุคยัดเยียดโฆษณาสินค้านานาชนิดให้เราดู แบบฟรีทีวี แต่ถ้าบังเอิญไปเจอสินค้าที่ถูกใจในโฆษณาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราในฐานะผู้ใช้งาน(User) แบบฟรีๆ ก็ควรช่วยส่งเสริมบรรดาผู้มีอุปการะคุณของเฟสบุค(พวกที่มาฝากทำโฆษณากับเฟสบุค)เขาสักหน่อย เช่น กดไลค์ คอมเมนต์ หรือแชร์โพสต์ออกไปให้เพื่อนเราคนอื่นๆ ได้เห็นได้ดูบ้าง เพราะหากเราไม่ช่วย ก็จะไม่มีใครมาโฆษณาขายสินค้ากับเฟสบุค สุดท้ายเฟสบุคก็อยู่ไม่ได้ เมื่อเฟสบุคอยู่ไม่ได้เราก็อดใช้ชีวิตออนไลน์ในโลกไซเบอร์แห่งนี้ไปโดยปริยาย
น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ฉันใด เฟสบุคก็พึ่งเรา เราก็พึ่งเฟสบุค ฉันนั้น มันเป็นการอิงผลประโยชน์ร่วมกันนั่นเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น